วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

8 พ.ค. วันกาชาดสากล แต่โจรใต้ฆ่าหมอ เผาโรงพยาบาล


วันกาชาดสากล เกิดขึ้นภายใต้แรงผลักดันของ ญัง อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นายธนาคารชาวสวิส หลังจากที่เขาได้พบเห็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2402 โดยเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกองกำลังทหารของฝรั่งเศสร่วมกับอิตาลี กับกองกำลังทหารของออสเตรีย ณ บริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้านของซอลเฟริโน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ทำให้มีทหารบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดคนช่วยเหลือพยาบาล เขาจึงได้รวบรวมบรรดาหมอชาวออสเตรียและกลุ่มนักเรียนแพทย์อิตาเลียน มาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายมิตรหรือศัตรู
          ครั้นเมื่อเขาเดินทางกลับถึงกรุงเจนีวา ญัง อังรี ดูนังต์ ได้นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ดังกล่าว มาถ่ายทอดผ่านหนังสือ "ความทรงจำที่ซอลเฟริโน" ขึ้น ทั้งนี้ มีใจความสำคัญระบุตอนหนึ่งว่า "จะเป็นไปไม่ได้หรือ ที่จะจัดตั้งองค์กรอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในสงคราม" และเสนอแนะว่า ควรจะมีการตระเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือในการพยาบาลให้พร้อมในยามสงบ เพราะเมื่อมีสงครามเกิดขึ้นจะได้ช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บทุกฝ่ายได้ทันท่วงที และขอให้ทหารฝ่ายใดผ่ายหนึ่งอย่ายิงคนที่ช่วยบรรเทาทุกข์เหล่านี้ เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ยังจะให้ประโยชน์ในยามที่เกิดทุพภิกขภัย เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ อีกด้วย
          จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ทำให้เกิดการประชุมระหว่างประเทศขึ้น ณ กรุงเจนีวา โดยมีผู้แทนจาก 16 ประเทศเข้าร่วมประชุม กระทั่งนำไปสู่การก่อตั้งสภากาชาดสากลขึ้น ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2406  พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" ขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The Internation Committee of the Red Cross หรือ ICRC)
          ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายอังรี ดูนังต์ เป็นวันกาชาดโลก
          หมอ พยาบาล ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยไม่มีการแยกแยะว่า ผู้ป่วยคนนั้นเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ตามหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพยามเกิดสงคราม บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์ พยาบาลหรือแม้แต่ทหารเสนารักษ์ ยังได้รับการยกเว้นในการโจมตี หรือทำลายล้างตามหลักการสากล แต่ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่ จชต. กลุ่มโจรใต้กล้าล่วงละเมิด หากย้อนไปดูปฏิบัติการสุดโต่งที่เคยเกิดขึ้นกับสถานพยาบาลรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์พบว่ามีหลายเหตุการณ์ด้วยกัน
          เหตุการณที่ 1 เหตุเกิดที่รั้วหน้าสถานีอนามัยดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ทั้งวางเพลิงเผา อนามัย เผาบ้านพัก พังยับ ทั้งยังฝังระเบิดหวังปลิดชีพ จนท. แต่ ถูกตรวจพบเสียก่อน โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
          เหตุการณที่ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดที่เกิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือ เหตุการณ์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2550  เวลา 12.45 น. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้บุกขึ้นไปยังสถานีอนามัยประจัน  ใช้อาวุธสงครามยิงเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่กำลังรับประทานอาหารกลางวัน  โดยเจ้าหน้าที่ไทยพุทธ  2 คน คือ นางอัจฉรา  สกนธวุฒิ หัวหน้าสถานีอนามัยและ นายเบญพัฒน์  แซ่ติ่น  นักวิชาการสาธารณสุข  ได้ถูกยิงเสียชีวิต
          เหตุการณที่ 3 เหตุเกิดที่หน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 โดยคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์น้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม หน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 8 ราย โดยพบรถรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้รับความเสียหายจอดอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่รองผู้ว่าฯ ไม่ได้เดินทางมากับรถคันนั้น แรงระเบิดยังทำให้กำแพงและตัวอาคารด้านหน้าสำนักงานสาธารณสุข 2 ชั้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก รถยนต์ที่จอดข้างถนน รถยนต์ชาวบ้านที่สัญจรไปมา รวมไปถึงรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายกว่า 10 คัน ส่วนบุคลากรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีไม่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังมาไม่ถึงที่ทำงาน แต่หากเกิดเหตุหลัง 8.30 น.น่าจะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากกว่านี้
          เหตุการณที่ 4 เหตุเกิดที่จุดจอดรถผู้มารับบริการภายในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เมื่อเวลา 9.30 น. ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย อาการสาหัส 3 ราย ส่งรักษาต่อ รพ.ปัตตานี  รับตัวรักษาที่ รพ.โคกโพธิ์ 7 ราย และมีรถมอเตอร์ไชค์ที่จอดในโรงจอดรถถูกเพลิงไหม้เสียหาย 64 คัน และรถยนต์อีก 7 คัน จุดที่คนร้ายนำรถมอเตอร์ไซด์ไปจอดนั้น เป็นส่วนท้ายสุดของโรงจอดรถที่อยู่ใกล้กับศาลานอกรั้วโรงพยาบาลที่เป็นจุดที่พักรักษาความปลอดภัยของ อส. และแรงระเบิดส่งผลให้ อส.บาดเจ็บไป 4 ราย 
          เหตุการณที่ 5 เหตุการณ์ยิงนักวิชาการสาธารณสุขประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสาคร  จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งมีผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น 3 คน ซึ่งประกอบด้วย น.ส.จริยา พรหมนวล (นักวิชาการสาธารณสุข เสียชีวิต) น.ส.พิณยุพา วชิรกิจโกศล (ลูกจ้าง ได้รับบาดเจ็บ) และ นางรุจิเรข หนูรัตน์ (นักวิชาการสาธารณสุข ไม่ได้รับบาดเจ็บ) ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่สำคัญในชายแดนใต้
          เหตุการณที่ 6 เหตุการณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนกระทั้ง UN หรือ องค์การสหประชาชาติออกมาแถลงประณามโจรใต้ คือกลุ่มโจรใต้ได้เข้ายึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องในจังหวัดนราธิวาส แล้วใช้อาคารดังกล่าวเป็นที่มั่นในการยิงฐานทหารไทยที่อยู่ใกล้ๆ มีการใช้อาวุธปืนยิงอยู่นานราว 30 นาที ขณะเกิดเหตุนั้นบรรดาผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ก็ยังคงอยู่ภายในตัวอาคารและพยายามหนีตายกันอลม่าน "โรงพยาบาล หน่วยการแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ล้วนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ พวกเขาไม่ควรตกเป็นเป้าโจมตีหรือถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร" สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลง หน่วยงานของยูเอ็นยังได้ระบุด้วยว่า การโจมตีบุคลากรทางการแพทย์ในภาคใต้ของไทยหลายครั้งที่ผ่านมา เคยมีบุคลากรทางการแพทย์บางรายเสียชีวิต สถานพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์เสียหายเป็นจำนวนมาก และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์
          ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกกลุ่มโจรใต้ที่เป็นมุสลิมหัวรุนแรงได้ก่อเหตุร้ายด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม อาทิ ใช้ปืนยิง ตัดคอ รวมถึงใช้ระเบิด บ่อยครั้งที่เป้าหมายนั้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ครูหรือพระสงฆ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอและง่ายต่อการปฏิบัติการของแนวร่วมมือใหม่
          อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจจะมาจากการขับเคลื่อนแผนงานโครงการของรัฐในการพัฒนาพื้นที่ จชต. ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีงานทำ ลดความเลื่อมล้ำของสังคม การเดินหน้าพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก การขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้าน ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดรายงานตัวแสดงตนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ร่วมพัฒนาชาติไทย
          แต่ท้ายที่สุดแล้วการพยายามที่จะก่อเหตุรุนแรงเพื่อการแบ่งแยกดินแดนนั้น เป็นเพียงความคิดของคนบางกลุ่มที่ต้องการครอบครองดินแดน 3 จชต. ซึ่งมีแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล และกลุ่มคนเหล่านั้นใช้วิธีการบ่มเพาะเยาวชน 3 จชต. ให้มีแนวความคิดแบ่งแยกดินแดนเหมือนกับตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น